ข้อมูลนักลงทุน

คณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทฯ มีกรรมการจำนวน 15 ท่าน ประกอบด้วย
  • กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร จำนวน 14 ท่าน โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยกรรมการอิสระ จำนวน 5 ท่าน (เท่ากับ 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด)
  • กรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 ท่าน
โดยคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการ ทั้งนี้ ประธานกรรมการ หรือผู้ที่ประธานกรรมการมอบหมายมีหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยส่งหนังสือนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทฯ มีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา พิจารณา และตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องต่าง ๆ โดยประธานกรรมการจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เว้นแต่กรณีที่ประธานกรรมการอาจขาดความเป็นอิสระหรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในวาระที่พิจารณา ให้กรรมการอิสระท่านอื่นเป็นประธานในที่ประชุมในการพิจารณาวาระดังกล่าว

หน้าที่และความรับผิดชอบของ “คณะกรรมการบริษัท”

  1. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายหลักของบริษัทฯ ที่ชัดเจน เหมาะสม ตามสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่าง ๆ พร้อมทั้งให้มีการสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ มีหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายบริหารให้ดำเนินการตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ภายใต้กรอบข้อกำหนดของกฎหมาย จริยธรรมทางธุรกิจ ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และระดับสากล
  2. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและกลยุทธ์ระยะปานกลาง พร้อมทั้งแผนการดำเนินงาน และงบประมาณประจำปี ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ โดยพิจารณาถึงการจัดสรรทรัพยากรและการควบคุมการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัยและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตลอดสาย value chain ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานและงบประมาณประจำปีที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่กิจการ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพิจารณาทบทวนแผนงานกลยุทธ์และภารกิจบริษัทฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดทำกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทฯ นโยบายการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณของบริษัทฯ เพื่อให้กรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงลูกจ้างทุกคน ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติควบคู่ไปกับข้อบังคับและระเบียบของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  4. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง โดยใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังและรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย
  5. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ในการอนุมัติในส่วนการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  6. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน การสอบบัญชี การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่มีความน่าเชื่อถือ มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนระบบการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในเป็นประจำเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  7. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในกิจการใด ๆ ซึ่งมีส่วนได้เสียกับกิจการของบริษัทฯ หรืออาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ รวมทั้งสอดส่องดูแลเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตลอดจนดูแลให้มีแนวทางและวิธีปฏิบัติเพื่อให้การทำรายการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูล ตามที่กฎหมายกำหนดและเพื่อให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ
  8. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดให้มีเลขานุการบริษัทฯ เพื่อให้คำแนะนำทางด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการจะต้องทราบ เพื่อช่วยให้คณะกรรมการและบริษัทฯ ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้
  9. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดให้มีการทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองทั้งคณะ และรายบุคคลเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานและปัญหาเพื่อสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข
  10. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ประเมินผลงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร เป็นประจำทุกปี และกำหนดค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร
  11. กรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง หากมีภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ให้แจ้งต่อประธานกรรมการบริษัทฯ
  12. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณของบริษัทฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
  13. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยยังอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  14. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อย รวมถึงระดับการแต่งตั้งบุคคลไปเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย ระบบการควบคุมภายในของบริษัทย่อยที่เหมาะสม
  15. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนากรรมการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเข้าร่วมการอบรม การสัมมนา การดูงานต่างประเทศ เป็นต้น
  16. คณะกรรมการบริษัทฯ กำกับดูแลให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession plan) เพื่อเป็นการเตรียมการสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารระดับสูง และให้กรรมการผู้จัดการใหญ่รายงานผลการดำเนินงานตามแผนสืบทอดตำแหน่งต่อคณะกรรมการเพื่อทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  17. คณะกรรมการบริษัทฯ ควรดูแลให้ฝ่ายบริหารมีการทบทวน พัฒนาดูแลการใช้ทรัพยากร ได้แก่ การเงิน การผลิต ภูมิปัญญา ด้านบุคลกร สังคมและความสัมพันธ์ และธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอก
  18. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ดูแลให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
  19. คณะกรรมการบริษัทฯ ควรดูแลให้การเปิดเผยข้อมูลซึ่งรวมถึงงบการเงิน รายงานประจำปี แบบ 56-1 สามารถสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานอย่างเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการเพื่อประกอบการเปิดเผยงบการเงินทุกไตรมาส อนึ่ง ในกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลรายการใดเกี่ยวข้องกับกรรมการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะกรรมการรายนั้น ควรดูแลให้การเปิดเผยข้อมูลในส่วนของตนมีความครบถ้วน ถูกต้องด้วย
  20. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่กำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารมีการติดตามและประเมินฐานะทางการเงินของกิจการและมีการรายงานต่อคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ และในกรณีที่บริษัทฯประสบปัญหาหรือมีแนวโน้มจะประสบปัญหาทางการเงิน คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ดูแลให้บริษัทฯ กำหนดแผนการแก้ปัญหาทางการเงิน เพื่อความอยู่รอด และ/หรือเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
  21. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และดำเนินงานโดยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รวมถึงการดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และเอื้อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิของตน
gototop-makro Top